Oo~About us~oO

รูปภาพของฉัน
เราพร้อมที่จะทำงานเพื่อฟื้นฟูอิสลามภายใต้พันธกิจที่ว่า"จงมุ่งมั่นสู่การปฏิรูปตนเอง และเรียกร้องเชิญชวนผู้อื่นสู่การยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ"

วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2551

คนละฟากถนน …รู้จัก - ไม่ต้องรู้ใจ , เข้าใจ - ไม่ต้องเข้าถึง

โดย อัล อัค

เมื่อพูดถึงความขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิง ผมขอเริ่มต้นด้วยการตั้งข้อสังเกตว่า ... เรากำลังเน้นผ้าคลุมผมและผ้าคลุมหน้ามากไปหรือเปล่า? จะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม แต่บางครั้งการเรียกร้องของเรามันกลับไปเน้นการแต่งกายภายนอกกันมากเกินไป ใช่หรือไม่?

แน่นอนที่สุดว่า การแต่งกายที่สอดคล้องกับชะรีอะฮฺย่อมต้องสำคัญอย่างแน่นอน และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการแก้ปัญหาความสัมพันธ์ผิด ๆ ระหว่างชายหญิง แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมมิติในด้านอื่น ๆ ด้วย ยิ่งการแต่งกายที่มีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่อย่างเปิดปิดใบหน้า ย่อมไม่อาจนำมาวางความสำคัญไว้หน้าประเด็นที่ถูกกล่าวถึงในอัล-กุรอานไว้อย่างชัดเจน อย่างการควบคุมสายตาและน้ำเสียง ...

จากประสบการณ์ของผมที่คลุกคลีอยู่กับเด็กหนุ่มสาวมานาน ผมกล้าบอกได้ว่าประเด็นสัมพันธ์ต้องห้ามทั้งหลายนั้น มันมาจาก “การสื่อสาร” หมายถึงการติดต่อกันเกินความจำเป็น อาจเป็นการพูดคุยกันตรง ๆ หรือผ่านสื่อชนิดต่าง ๆ

ผมยกตัวอย่างง่าย ๆ คนบางคนเน้นเรื่องปะปนมาก แต่อันตรายที่ผมเคยเห็นมามากก็คือ การพูดโทรศัพท์ ซึ่งหลายคนมองข้าม หลายคนชอบโทรศัพท์คุยกัน ถือว่าไม่เห็นหน้า ไม่เป็นไร โทรปรึกษาเรื่องอิสลาม เรื่องกิจกรรมกันทุกวัน คุยครั้งละนาน ๆ เป็นชั่วโมง ... บอกให้เลยว่า นี่แหละอันตรายมาก

เรื่องนี้ยังรวมไปถึงการโต้ตอบกันทางอินเตอร์เน็ต แม้จะเป็นแค่การพิมพ์ข้อความ ก็ควรเข้มงวดในเรื่องพวกนี้ เพราะการเห็นแค่ตัวอักษร สำหรับผู้ชายบางคน มันก็สร้างจินตนาการไปไกลแล้วละ ... (สำหรับผู้หญิงผมไม่ทราบ)

จากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมา ... ผมค่อนข้างประหลาดใจต่อมุสลิมีนที่ทำเคร่งครัดในการแต่งตัวของผู้หญิง แต่ชอบให้คำปรึกษาแก่มุสลิมะฮฺ วัน ๆ รับโทรศัพท์มุสลิมะฮฺ และเช่นกันมุสลิมะฮฺที่ชอบโทรขอคำปรึกษาผู้ชาย หรือชอบให้คำปรึกษาหรือคำนะศีฮัตต่อผู้ชาย ก็น่าเป็นห่วงมาก ๆ เหมือนกัน ...

ครับ ... ผมได้ตั้งข้อสังเกตุพอสมควรต่อข้อเสนอของพี่น้องบางท่านที่กล่าวมาลอย ๆ ว่าไม่ให้ปะปนกัน ต่อกรณีการแก้ปัญหาสัมพันธ์ต้องห้ามระหว่างชายหญิง รวมทั้งปัญหาการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างชายหญิงไปบ้างแล้ว ว่าจำเป็นต้องมีการใช้ตัวบทที่ชัดเจน มิเช่นนั้นจะเกิดการสงสัยกันเอง ...(ดู บทความเรื่องการปะปน)

ส่วนข้อเสนอของผมในการแก้ปัญหาเรื่องนี้(ดังที่หลายคนคงทราบดีแล้ว) คือ ผมได้เสนอแนวคิดที่ผมตั้งขึ้นมาเองว่า “ความสัมพันธ์คนละฟากถนน” ให้แก่การกิจกรรมระหว่างคนทำงานระหว่างชายหญิง …

องค์ประกอบที่สำคัญของแนวคิดนี้เป็นดังที่ผมกล่าวมาตอนต้นคือ หลีกเลี่ยง “การสื่อสาร” ระหว่างกันให้มากที่สุด ต่อให้เราพบเจอกันแบบไม่มีม่าน แต่เราแทบจะไม่ได้สื่อสาร ทั้งทางคำพูดและการใช้สายตา เท่ากับเราได้ตัด “ช่องทาง” ในการส่งฟิตนะฮฺ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้สื่อสารกัน ไม่ต้องให้สลามกันแล้ว ไม่ต้องสนใจในความทุกข์ยากลำบากกันแล้ว ... สื่อสารไม่ได้ห้ามครับ แต่ทำเท่าที่จำเป็นก็พอ

ผมคิดว่าการเข้มงวดในเรื่องนี้จัดว่าเป็นบุคลิกภาพของมุสลิมีนและมุสลิมะฮฺที่ดีด้วย การสื่อสารกันให้น้อยที่สุด พูดคุยเท่าที่จำเป็น เป็นการให้เกียรติระหว่างเพศกันด้วย และถือว่ามีมารยาทอิสลามที่ดีงามเช่นกัน

ความสัมพันธ์คนละฟากถนน จึงเริ่มด้วยการตัดช่องทางการสื่อสารให้น้อยที่สุด ให้มุสลิมีนและมุสลิมะฮฺเหมือนอยู่กันคนละฟากถนน การจะบอกอะไรให้อีกฝ่ายทราบก็กระทำได้ แต่อาจต้องตะโกนข้ามถนน ไม่ต้องมาเดินด้วยกัน คือผมหมายความว่า ให้มีการสื่อสารอยู่ แต่กระทำยากสักนิดหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ในการทำกิจกรรมร่วมกัน เราปรึกษาหารือกัน แต่ไม่ต้องมาจัดวงพูดคุยหันหน้าเข้าหากัน แล้วประชุมกันเป็นชั่วโมง ประสบการณ์ของผมถือว่าเป็นการประชุมที่แย่มาก ๆ เพราะพวกมุสลิมีนพากันโชว์วิชชั่น โชว์ความคริเอทีฟ ในที่ประชุม แทบจะหามติอะไรไม่ได้ ถ้าจำเป็นต้องประชุมร่วมกันจริง ๆ ก็ให้จัดที่นั่งแบบแถวละหมาดก็ได้ แล้วก็จำกัดวาระที่ชายหญิงต้องรับรู้และต้องปรึกษาร่วมกันจริง ๆ บางวาระไม่ต้องให้ผู้หญิงร่วมอยู่ด้วยก็ได้ หรือบางวาระให้ผู้หญิงไปคุยกันเองก็ได้ ... นี่มิใช่ความสุดโต่ง ทำให้เป็นธรรมชาติ

หลักการนี้ผมก็ประยุกต์มาจากฟัตวาของอุละมาอ์หลายท่าน คือพวกเราชอบโต้แย้งในเนื้อหาฟัตวาที่อาจมีความเห็นหลายอย่างได้ เช่น ความหมายเกี่ยวกับมะหฺร็อมในการเดินทางไกล? การมีม่านหรือไม่มีม่าน? แต่ผมเห็นว่า ฟัตวาต่าง ๆ ก็ได้เสนอสิ่งที่สอดคล้องกันและพวกเราก็ไม่ค่อยกล่าวถึง นั่นก็คือ การไม่ให้ชายหญิงติดต่อสื่อสารกันอย่างพร่ำเพื่อ …

แม้เราจะพบว่าในยุคแรกนั้น ผู้หญิงก็ไปมัสญิด เข้าไปช่วยผู้ชายในสนามรบ ร่วมพิธีฮัจญ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่ดีงาม และชี้ให้เห็นว่าไม่มีการแบ่งแยกกันชัดเจนเด็ดขาด แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่า พวกเขาชายหญิงนั่งจับกลุ่มกันพูดคุยกันในแบบที่คนสมัยนี้จำนวนมากกระทำกัน ...

ความสัมพันธ์คนละฟากถนน จึงให้ความหมายว่า การไม่เปิดโอกาสให้หญิงชายพากันเฮไหนเฮนั่น นัดกันไปนั่งกินอาหารกันกลุ่มใหญ่ ถ้าจะไปด้วยกันก็ควรจะแยกโต๊ะ คือผมไม่ได้เรียกหาม่าน แต่เรียกหา “ฟากถนน” ให้อยู่กันคนละฟาก แต่ยังเห็นไกล ๆ ว่าเดินอยู่บนถนนเดียวกันอยู่ แม้จะอยู่กันคนละฟาก

แนวคิดคนละฟากถนน ก่อให้เกิดสองฟาก หรือสองวง แต่ทำงานร่วมกันได้ มีการติดต่อตามขอบเขตของชะรีอะฮฺ แต่ผมยังเสนออีกสิ่งหนึ่งเพื่อลดระดับความตึงเครียดระหว่างชายหญิง และลดแรงกระตุ้นในการนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่เสียหาย นั่นก็คือ ต้องสร้างจุดโฟกัสที่ถูกต้องให้แก่แต่ละฟาก

หมายความว่า ให้ชายหญิงที่อยู่คนละฟากโฟกัสเนื้อหาการพูดคุยไปยังเรื่องที่มีประโยชน์ ให้เป็นเรื่องวิชาการ เป็นเรื่องเสริมสร้างประโยชน์ในงานดะอฺวะฮฺ และหลีกเลี่ยงหัวข้อความรักระหว่างชายหญิง เน้นหัวข้อความรักต่ออัลลอฮฺ ต่อเราะซูล และการทำงานเพื่ออิสลามแทน ให้ลดระดับการพูดคุยเรื่องสามีและภรรยาในอุดมคติ เพราะสิ่งเหล่านี้หากไม่ถึงเวลาของมันจริง ๆ พูดไปก็มีแต่ไปกระตุ้นความปรารถนาของความเป็นคนหนุ่มคนสาว

เรื่องที่ดีหลาย ๆ อย่าง แต่ไม่ได้เวลาของมัน และไม่ก่อให้เกิดผลทางบวก เราก็ต้องลด ๆ การพูดถึงมันให้น้อยลง ขณะที่บางคนมีอมานะฮฺเรื่องเรียน เรื่องดูแลพ่อแม่ ดูแลน้อง แต่ไปเอาเรื่องการหาคู่ครอง(ที่มันไม่ถึงเวลา)มาย้ำ แล้วเมื่อไม่มีความสามารถจะกระทำ มันจะยิ่งกว่ากลัดกลุ้มใจ เรื่องแบบนี้ท่านนบีฯ แนะนำให้ถือศีลอดต่างหาก ...

ผมเสนอแนวคิด “ความสัมพันธ์คนละฟากถนน” เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ท่ามกลางปัญหาของตัวผมเองและของพี่น้องหลาย ๆ คนในเรื่องการทำกิจกรรมระหว่างชายหญิง ท่ามกลางคนที่เคร่งครัดมาก ๆ กับพวกที่แทบจะไม่สนใจหลักการในเรื่องนี้เลย และเมื่อย้ำให้หลายคนในทีมงานปฏิบัติตามแนวคิดนี้ มันได้ผลเกินความคาดหมาย ปัญหาเริ่มคลี่คลายและแทบจะไม่มีเรื่องหนักหนาใด ๆ เลย ที่สำคัญมันทำให้ชายหญิงที่ปฏิบัติในทิศทางนี้ยังคงร่วมงานกันได้อย่างเป็นธรรมชาติต่อไป

ครับ ... คำว่า “คนละฟากถนน” ยังหมายถึงมุสลิมีนและมุสลิมะฮฺมาร่วมเดินอยู่บนถนนเดียวกัน แต่ไม่ต้องมาเดินใกล้ ๆ กัน นั่นหมายความว่า เราทำงานด้วยกัน พอจะมองเห็นกันไกล ๆ ว่าใครเป็นใคร แต่ไม่ต้องมาให้เห็นหน้ากันชัด ๆ จนรู้ในเรื่องส่วนตัวไปหมด คือเราต้อง “รู้จักกัน” แต่ไม่ต้องถึงขั้น “รู้ใจกัน” คือเรา “เข้าใจกัน” แต่ไม่ต้อง “เข้าถึงกัน"

ไม่มีความคิดเห็น: